Tuesday, August 20, 2013

เหมือนว่าอียิปต์ก็ไม่ต่างกับไทย



ทหารอียิปต์เข้าการสลายชุมนุมของภราดรภาพมุสลิมสองจุดในไคโรเมื่อวันที่ ๑๔-๑๕ สิงหาคมที่ผ่านมาไม่ต่างอะไรกับเมื่อตอนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นมือที่มองเห็นชี้ช่องศูนย์อำนวยการฉุกเฉินฯ ส่งทหารเข้ากระชับวงล้อมการชุมนุมของเสื้อแดงที่ราชประสงค์เมื่อ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓

ในไคโรทหารใช้กระสุนจริงยิงต่อเนื่องกับการยิงแก๊สน้ำตาหลังจากประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ได้ไม่ถึง ๑๕ นาฑี เป็นผลให้มีคนตายนับพันตามรายละเอียดรายงานล่าสุดฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ ที่ระบุว่าวันที่ ๑๔ ส.ค. มีผู้เสียชีวิต ๖๓๘ ราย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ๔๓ คน และจำนวนผู้ตายเพิ่มเติมในวันที่ ๑๘ ส.ค. อีก ๑๗๓ คน ส่วนใหญ่ในพื้นที่บริเวณสุหร่ารับอะ อัล-อะดาวียา ในนัสเซอร์ซิตี้ และที่นาห์ดะในย่านกิซ่า ซึ่งก่อนหน้านี้อัลจาซีร่า รายงานว่ามีคนตายเกินห้าร้อย

ส่วนในกรุงเทพฯ เมื่อปี ๕๓ อาจมีคนตายน้อยกว่า คือแค่หลักร้อย แต่สภาพศพจำนวนมากเห็นรอยกระสุนเข้าหัว ทะลุคอ หรือฝังในร่างส่วนบนไม่ต่างกัน

ผู้ตกเป็นเหยื่อลุยสังหารในนัสเซอร์ซิตี้อาจเป็นมุสลิมภราดรภาพที่ชาวอียิปต์อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นพวกคลั่งศาสนานิยมความรุนแรง ส่วนคนเสื้อแดงเหยื่อกระชับวงล้อมในพื้นที่ราชประสงค์ส่วนมากมาจากต่างจังหวัดถูกหยามว่ากักขฬะ โง่เง่า แต่พวกเขาชื่นชมอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

ทั้งสองเหตุการณ์ คนละประเทศ คนละปี แต่ดูแล้วผู้เสียหาย และสูญเสียเหล่านี้ก็คือ ประชาชนธรรมดา ไม่ได้ต่างกันสักเท่าไร

ทั้งสองกรณี ผู้กระทำจัดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดพิเศษเรียกว่า ทหารเป็นชนชั้นเหนือกว่าใครในสังคม นอกจากจะกินดีอยู่ดี มียศถา มีสิทธิพิเศษพกพา และใช้อาวุธประหัตประหารสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่พวกพ้องของตน หรือไม่ก็เป็นคนของกองทัพซึ่งหน้าที่หลักไม่ค่อยได้ใช้ในการรบราข้าศึกเหมือนก่อน แต่มักเอาไว้ปราบประชาชนที่เห็นต่างกับผู้กุมอำนาจรัฐ นอกเหนือจากนั้นมักชำนาญกีฬาเดินตีลูกบอลสีขาวเล็กๆ ที่เรียกว่าก็อล์ฟ เหมือนๆ กัน

ทหารอียิปต์นั้นเปรียบเทียบได้กับวรรณะพราหมณ์ของอินเดียโบราณ มีการสืบทอดตำแหน่งกองทัพด้วยการบรรจุลูกหลานต่อเนื่องจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง พวกเขาจะพยายามปกป้องศักดิ์ศรี และสิทธิพิเศษ เหนือใครๆ ในประเทศเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

สตีเว็น เอ. คู้ก ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางของสมัชชาความสัมพันธ์ต่างประเทศ บอกว่าพวกนี้ถือตัวเป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจ และอิทธิพลของทั้งระบบ โดยที่ไม่ยึดเหนี่ยวในทางอุดมการณ์ใดๆ และพร้อมที่จะต่อรองกับใครๆ ได้ทั้งนั้น

นี่เป็นคำตอบต่อข้อข้องใจที่ว่าทำไมนายพลอับดุล ฟัตตาห์ อัลซิซี ซึ่งดูเหมือนจะเคยไปกันได้ดีกับประธานาธิบดีโมฮัมเม็ด มอร์ซีในระยะแรกๆ กลับกลายมาเป็นผู้โค่นมอร์ซีเสียเอง ทำนองเดียวกับที่นายพลโมฮัมเม็ด ฮัสเซียน ทันทาวี (ฉายาหมาพูเดิ้ลของมูบารัค) แปรพักตร์ไปเป็นกุญแจสำคัญที่กำจัดประธานาธิบดีมูบารัคจากอำนาจเมื่อสองปีที่แล้ว

ทหารอียิปต์อ้างเหตุผลในการเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองว่าเพื่อธำรงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของประชาชน จุดมุ่งหมายหลักของทหารอยู่ที่ความมั่นคงแห่งชาติ อันตีความรวมไปถึงสิทธิพิเศษต่างๆ ของพวกตนที่ใครไหนอื่นจะแตะต้องไม่ได้ด้วย

แล้วทหารไทยล่ะ บางคนบอกว่าไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป เพราะเรามีทหารประชาธิปไตย และทหารแตงโม แม้จำนวนไม่น้อยที่วงศ์ญาติ และเครือดองจะเพียงเข้าข่ายชนชั้นกลางในเมือง ไม่ถึงขั้นอำมาตย์ แต่การอ้างความมั่นคงแห่งชาติเสมอๆ ของทหารไทยก็ไม่ต่างกับความมั่นคงทางชนชั้นแบบอียิปต์ เพียงแต่ทหารไทยอาจเลิศเลอกว่าตรงที่มีความภักดีต่อราชบัลลังก์คุ้มเกล้าอยู่ด้วยเท่านั้น

เฉพาะที่เหมือนกันมากๆ ตรงการเข้าสลายการชุมนุม

คงจำกันได้ว่าก่อนที่จะสิ้นสุดการชุมนุมของเสื้อแดงในเดือนพฤษภาคม ๕๓ ลงอย่างราบคาบ และเป็นเถ้าถ่าน กำลังทหารได้เข้าสลายบริเวณสี่แยกคอกวัวถึงสะพานผ่านฟ้าก่อนหน้าแล้วหนึ่งครั้งในวันที่ ๑๐ เมษายน

มีการยิงแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิค็อปเตอร์แล้วตามด้วยการขอคืนพื้นที่ด้วยกระสุนจริงยามค่ำ (อันตรงข้ามหลักการสลายชุมนุม) ครั้งนี้นับเป็นโชคดีของฝ่ายประชาชนไม่มีคนตายมากเพราะมีชายชุดดำติดอาวุธหนักเข้ามาขัดขวาง ทำให้ฝ่ายทหารถอยไปหลังจากมีนายทหารระดับบังคับบัญชาตายไปหนึ่งคน บาดเจ็บหนักอีกสองคน จากระเบิดมือเอ็ม ๖๔ (แบบที่ทหารใช้) ขว้างเข้าไปกลางวงบัญชาการภาคสนาม

จึงมีการเข้าสลายอีกเป็นครั้งที่สองในวันที่ ๑๙ พฤษภาคมที่บริเวณราชประสงค์ หลังจากที่การเจรจาต่อรองระหว่างตัวแทนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับแกนนำ นปช. โดยมีกลุ่มวุฒิสมาชิกเป็นคนกลางประสาน ใกล้จะลงเอยด้วยการถอยหลังหนึ่งก้าวของฝ่าย นปช.

ในขณะที่วุฒิสมาชิกนำท่าทียินยอมจากแกนนำผู้ชุมนุมไปแจ้งแก่รัฐบาล ทาง ศอฉ. ได้ตัดสินใจสั่งลุยไปเสียแล้วอย่างเบ็ดเสร็จ อันรวมถึงการใช้สไน้เปอร์ยิงอาสาสมัครในวัดปทุมวนาราม ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทย (กสม.) ของนางอมรา พงศาพิชญ์สำคัญผิดในข้อเท็จจริงอย่างลำเอียง

ที่อียิปต์ก็เช่นกันการเข้าสลายชุมนุมของผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี่เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาสองฝ่ายที่มีทั้งตัวแทนจากสหรัฐ และประชาคมร่วมยุโรปเป็นตัวกลางประสานใกล้สัมฤทธิ์ผล เมื่อฝ่ายภราดรภาพมุสลิมยอมรับข้อเสนอแล้ว ดังคำพูดของเบอร์นาดิโน ลีออน ตัวแทนอียู ที่ว่า “เรามีแผนทางการเมืองอยู่พร้อมแล้ว และฝ่ายหนึ่งก็ยอมรับแล้ว...เหตุการณ์ (สลายชุมนุม) ที่เกิดขึ้นไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด

แต่ฝ่ายทหารที่เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคมกลับอ้างว่า แม้พวกบราเธอร์ฮู้ดจะบอกว่ายอมแล้วก็ยังไว้ใจไม่ได้อยู่ดี

ทางการสหรัฐ ผ่านทางรัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศวิลเลี่ยม เบิร์น รัฐมนตรีกลาโหมชัค เฮเกิล และสองวุฒิสมาชิกรีพับลิกัน จอห์น แม็คเคน กับลินซี่ย์ แกรฮ์ม พยายามที่จะชักนำฝ่ายทหารของนายพลอัลซีซิให้ประนีประนอมกับกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร อันรวมถึงภราดรภาพมุสลิม และพันธมิตรประชาธิปไตย (ซึ่งต่างกับ พธม. ของไทยอย่างเกือบสิ้นเชิง)

แต่ว่าฝ่ายทหารไม่ยอมฟังเสียงอเมริกันที่เคยขุนมานมนานหลายทศวรรษอีกแล้ว ไม่ว่าสหรัฐจะระงับการส่งมอบฝูงบินเอฟ ๑๖ ยับยั้งการซ้อมรบร่วมประจำปี และเปรยว่าอาจกระทบความช่วยเหลือรวมรายปีมูลค่ากว่า ๑,๕๐๐ ล้านเหรียญก็ตาม

มิหนำซ้ำนายพลอัลซีซิได้เหน็บแนมอย่างแรงๆ ต่อสหรัฐในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ว่า สหรัฐ “หันหลังให้กับประชาชนอียิปต์แล้ว พวกเขาจะไม่มีวันลืมหรอก” ทั้งๆ ที่รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า พยายามไม่เอ่ยคำว่า รัฐประหารเมื่อกล่าวถึงการยึดอำนาจในอียิปต์ เพื่อจะได้ไม่มีผลกระทบทางกฏหมายให้ความช่วยเหลือโดยรวมรายปีต่ออียิปต์ต้องยุติลง แล้วกระเทือนต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่ผูกพันอยู่กับคลองสุเอซ

ถึงกระนั้นความลักลั่นในนโยบายต่างประเทศสหรัฐต่อปรากฏการณ์อาหรับสปริงโดยรวม และความระมัดระวังเหมือนเดินบนเส้นเชือกในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านจากผู้เผด็จการมูบารัคไปยังประธานาธิบดีมอร์ซี่ มาสู่การเข้ายึดอำนาจอีกครั้งโดยฝ่ายทหาร ทำให้น้ำหนักคำพูดในฐานะพี่เอื้อยผู้เลี้ยงดูของสหรัฐลดน้อยลงไปอย่างวูบวาบ ประกอบกับเดี๋ยวนี้มีอิทธิพลในภูมิภาคเข้ามาแบ่งส่วนบุญด้วย

ซาอุดิอาราเบียจัดเป็นมหาอำนาจทางการเงินในภูมิภาคที่ประกาศสนับสนุนคณะทหารอียิปต์ในทันทีทันควัน เมื่อนายพลอัลซีซิเมินเฉยต่อเสียงโทรศัพท์รายวันของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐแล้วประกาศโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ประการหนึ่งเพราะรัฐบาลของกษัตริย์อับดุลลาห์มีความจงเกลียดจงชังภราดรภาพมุสลิมอย่างหาที่สุดมิได้ อันเนื่องมาจากความเป็นปฏิปักษ์ต่อราชวงศ์ซาอุดิอาราเบียของบราเธอร์ฮู้ด

รัฐบาลซาอุฯ เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ (๑๙ ส.ค.) นี้เองต่อความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสหรัฐ และประเทศในสหภาพยุโรปจะใช้มาตรการหยุดส่งเงินสดช่วยเหลือแก่อียิปต์ตอบโต้ต่อการเข่นฆ่าผู้ชุมนุมในไคโรว่า หากอียิปต์ขาดแคลนเท่าไร ซาอุดิอาราเบีย และพวกพ้องจะช่วยกันเติมเต็มให้ไม่ต้องห่วง ก่อนหน้านี้สามวันกษัตริย์อับดุลลาห์ทรงมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์เตือนสหรัฐ และประเทศตะวันตกว่าอย่าสะเออะไปยุ่งกับกิจการภายในของอียิปต์นะ

สำหรับคณะทหารไทยกับรัฐบาลสหรัฐที่มีความล้ำลึกต่อกันในยุคสงครามเย็น ทั้งในการสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ การถอนรากทำลายฝิ่นในภาคเหนือ และแถบสามเหลี่ยมทองคำ ด้วยงบประมาณลับไหลเข้ากลาโหมจำนวนมหาศาล กลายเป็นชิ้นปลามันให้เกิดแก่งแย่ง รุ่นพี่รุ่นน้องแข่งทำรัฐประหารช่วงชิงกันหลายครั้ง

กระทั่งเกิดเหตุเมษา-พฤษภาอำมหิตขึ้นในปี ๕๓ สหรัฐก็สามารถทำตนเป็นหมู่เฉยมาได้ตลอด จนถึงปรากฏการณ์ เธอก้าวสองขากลับมาเยือน ของนางฮิลลารี่ คลินตันเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ จนบัดนี้การเมืองไทยเข้าสู่โหมด สภาไทยไปมวยโลก และ ชะนีโหยหวน ซึ่งไม่ต่างจากโหมด ลากเก้าอี้ประธานฯ เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วเท่าไรนัก จัดเป็นช่วงผ่อนคลายอารมณ์กับการเล่นจำอวดโดยพวกเด็กๆ แก๊งไอติม

อีกทั้งเมื่อไม่กี่เดือนมานี้เพิ่งมีการเดินทางเยือนสหรัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำฝ่ายทหารของไทย ด้วยบรรยากาศนุ่มนิ่ม เรียบๆ น่าเป็นได้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีซาอุดิ อาราเบียมาให้กำลังใจทางการเงินจากการที่อยู่คนละทวีป คนละเชื้อชาติ คนละศาสนา และข้อสำคัญมีเรื่องคดีความเชื้อพระวงศ์ซาอุฯ ตายปริศนาในไทย สืบเนื่องมาแต่เรื่องเพชรหายติดปลายนิ้วสลัดไม่หลุดอยู่ด้วย

จึงมิอาจเปรียบเทียบสถานการณ์อียิปต์ปัจจุบันกับสถานการณ์ไทยในขณะนี้ได้

มิใยที่จะมีพวกไทยสปริงจอมปลอมพยายามจะโยงเข้าไปแอบอิงสร้างราคา หากแต่ว่าความรุนแรงที่ฝ่ายทหารใช้ในอียิปต์ครั้งนี้ กับที่เกิดในไทยครั้งนั้น บวกเจตนาของทหารที่เพียงปกป้องฐานะพิเศษแห่งชนชั้นไม่ได้ต่างกันแม้แต่น้อย ไม่ว่าทหารอียิปต์จะสามารถเรียกมวลชนให้ออกมาสนับสนุนฝ่ายตนได้เป็นหมื่นหรือหลายแสน ก็หนีไม่พ้นลักษณะมวลชนจัดตั้ง ไม่ต่างกับม็อบตากผ้าที่สนามหลวง หรือม็อบโค่นระบอบทักษิณที่ยังอ้อยอิ่งเหมือนผู้สูงอายุฉี่เท่าไรก็ไม่สุด

แท้จริงแล้วมวลชนอียิปต์มีลักษณะที่ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ดังที่บล็อกเกอร์เกี่ยวกับตะวันออกกลางคนหนึ่งนามว่า กริฟฟิน พอล แจ็คสัน เขียนไว้ว่ามัน complicated นั่นคือไม่ได้มีเพียงแค่สองฝ่ายที่สนับสนุนมอร์ซี่ กับที่สนับสนุนทหารเท่านั้น

ในแต่ละข้างของความแตกต่างทางการเมืองสองค่ายประกอบไปด้วยกลุ่มย่อยๆ ที่บ้างอาจไม่ต้องการให้มอร์ซี่ และภราดรภาพมุสลิมมีอำนาจ แต่ก็ไม่ยอมรับการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงของทหาร

กลุ่มที่ไม่เอาทั้งบราเธอร์ฮู้ด และทหาร อันเป็นส่วนหนึ่งของมวลชนที่แสดงความชื่นชอบการรัฐประหารในระยะแรกนี้เรียกกันว่า สี่เหลี่ยมที่สาม ประกอบด้วยพรรคนูร์ อันเป็นส่วนใหญ่ของพวกซาลาฟี พรรคอียิปต์เข้มแข็ง พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ และขบวนการ ๖ เมษา ส่วนพวก ทามาร็อด หรือกบฏ เป็นการรวมตัวของพรรคย่อยๆ เช่นนูร์ และแนวหน้าพิโมกข์แห่งชาติ (เอ็นเอสเอฟ) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มย่อยลงไปอีกมากมาย

พวก สี่เหลี่ยมที่สาม นี้เป็นความหวังที่จะยับยั้งมิคสัญญีในชาติได้ด้วยการยอมรับเหตุผล และความเที่ยงธรรม

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนมอร์ซี่ไม่ได้มีเพียงพวกภราดรภาพเท่านั้น ยังมีภาคี หรือพันธมิตรของกลุ่มย่อยๆ ที่เรียกตัวเองว่าพวกไม่เอารัฐประหาร-ต้องการประชาธิปไตย ปนอยู่กับพวกมุสลิมหัวรุนแรงที่ปฏิบัติการก่อการร้าย มีศูนย์กำลังอยู่ในซีไนตอนเหนือ

เช่นเดียวกับฝ่ายสนับสนุนทหารที่นอกจากทหาร-ตำรวจแล้วยังมีขบวนการเคฟาย่า อันเป็นพวกคงแก่เรียนไม่นิยมความรุนแรง กับบางส่วนของพวกแนวหน้าพิโมกข์ เช่นพรรครัฐธรรมนูญของรองประธานาธิบดีมูฮัมเม็ด เอลบาราได นักฟิสิคศ์รางวัลโนเบล ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งเพราะทหารใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม

ดูตามองค์ประกอบของกลุ่มต่างๆ ภายในฝักฝ่ายสองข้างสุดกู่ระหว่างพวกทหาร และพวกภราดรฯ จะพบว่ามีสัดส่วนของกลุ่มที่ปฏิเสธความรุนแรง และยอมรับความเห็นต่างเจือปนหลากหลาย หรือจนกระทั่งเหลื่อมล้ำกันอยู่ไม่น้อย

มวลชนส่วนหนึ่งเลือกเข้าข้างฝ่ายทหารเพราะคิดว่าเป็น lesser evil หรือพูดด้วยภาษาไพร่ว่า เห้..น้อยกว่าแต่ทำไปทำมาอาจกลายเป็น มวลชนโดนทหารหลอกใช้ก็เป็นได้

ด้วยเหตุว่าเกิดมีข้อมูลใหม่เมื่อต้นอาทิตย์นี้เอง "ศาลสั่งให้ปล่อยตัวอดีตประธานาธิบดีฮอสนิ มูบารัคแล้ว" และอาจมีการปล่อยตัวจริงๆ ในเร็วๆ นี้ เบื้องลึกของข่าวนี้ได้รับการตีความโดยสื่อตะวันตกว่าเป็นการกลับสู่การปกครองโดยทหารอีกครั้งหนึ่งในอียิปต์ แต่จะเป็นเผด็จการอย่างสมัยมูบารัค หรือรูปแบบใหม่เป็นเรื่องต้องจับตาดูกันต่อไป

ที่แน่ๆ ก็คือทหารได้ขอคืนพื้นที่สำเร็จแล้ว และกำลังกระชับอำนาจแห่งชนชั้นพิเศษอย่างขมีขมันภายใต้เงาของมูบารัค

รองประธานาธิบดีมูฮัมเม็ด เอลบาราได กับประธานาธิบดีแอ็ดลี มันซูร์
ดูจากสายการบังคับบัญชาในรัฐบาลชั่วคราวของคณะรัฐประหาร นับแต่นายพลอัลซีซิซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการสำนักงานข่าวกรองของมูบารัคลงมา ประธานาธิบดีชั่วคราว แอ็ดลี มันซูร์ เป็นอดีตผู้พิพากษาที่มาจากการแต่งตั้งของมูบารัค รัฐมนตรีมหาดไทย โมฮาเม็ด อิบราฮิม ก็เติบใหญ่ทางการเมืองด้วยน้ำมือมูบารัค รัฐมนตรีคลังเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่คุ้นเคยใกล้ชิดกับกามาล ลูกชายที่มูบารัคหมายมั่นให้สืบทอดตำแหน่งผู้นำ นอกนั้นรัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรียุติธรรมล้วนได้รับบำเหน็ดความดีความชอบมาจากมูบารัคทั้งสิ้น

ย้อนมาดูไทย แม้การไล่ตีไล่ต่อย และการกรีดร้องโหยหวนจะเป็นเพียงอาการดื้อแพ่งของแก๊งไอติมในสนามสภา ขณะที่การบริหารจัดการในท้องพระโรงโอ่โถงดูจะราบรื่นชื่นมื่นดีระหว่างฝ่ายทหารกับรัฐบาล เมื่อนายกหญิงผู้งดงามเข้าไปนั่งคุมกลาโหมอย่างสุดสง่า แต่ความเปลี่ยนไป๊ในอียิปต์ก็ทำให้อดคิดถึงจิตสำนึกเบื้องลึกของทหารในการเมืองอย่างไทยๆ ไม่ได้ว่า จะยอมเป็นน้ำใต้ศอกอิตถีเพศไปได้นานสักแค่ไหน

หวังเพียงแค่ว่าท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลยิ่ง (น่า) ลักษณ์จะไม่กลายเป็นผู้พามวลชนไปโดนทหารหลอกเหมือนอียิปต์ก็แล้วกัน

No comments:

Post a Comment